เรื่องย่อ “PK :ผู้ชายปาฏิหาริย์”
PK คือมนุษย์ต่างดาวตาโตหูกาง (Aamir Khan) ที่ถูกยานแม่ส่งลงมายังโลกมนุษย์ในชุดวันเกิด กลางทะเลทราย Rajasthan เพื่อมาศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ แต่โชคร้ายของ PK ที่ลงมาปุ๊บ เขาก็ถูกตาแก่ฉกสร้อยรีโมทของเขาไปปั๊บ มนุษย์ต่างดาวหนุ่มจึงต้องพยายามตามหารีโมทเรียกยานแม่ของเขาคืน มิฉะนั้นเขาจะกลับดาวบ้านเกิดของเขาไม่ได้
เนื่องจาก PK ลงมาอย่างเปล่าๆ เปลือยๆ ไม่มีเสื้อผ้าห่อหุ้ม ไม่รู้ภาษา และไม่รู้จักอะไรเลยสักอย่าง เขาจึงต้องประสบความยากลำบากกับการลองผิดลองถูกและปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมอันหลากหลายบนโลกใบนี้ พร้อมๆ กับตามหารีโมทแสนล้ำค่าของเขาไปด้วย อย่างไรก็ตาม โชคชะตาก็ยังใจดีพาเขาไปเจอกับพี่ชายใจดี Bhairav Singh (Sanjay Dutt) ที่พาเขาไปอยู่ด้วย และมีส่วนช่วยทำให้เขาพูดภาษาเดียวกันได้ในที่สุด
หลังจากรู้ภาษาและเริ่มเรียนรู้ปรับตัวได้ PK ผู้แสนจริงใจไร้เดียงสาก็ออกเดินทางไปกรุง Delhi เพื่อตามหารีโมทของเขาต่อไป แต่เมื่อเขาไปถามชาวบ้าน ใครต่อใครก็ต่างบอกเขาเป็นเสียงเดียวกันว่า “พระเจ้าเท่านั้นแหละที่จะนำรีโมทมาคืนให้ได้” ดังนั้น เขาจึงเริ่มเบนเข็มออกปฏิบัติการตามหาพระเจ้าบนแผ่นดินที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางความเชื่อหรือศาสนา โดยมีนักข่าวสาวสวย Jagat Janani หรือ Jaggu (Anushka Sharma) และบอสของเธอ Cherry Bajwa (Boman Irani) คอยช่วยเขาตามหารีโมทที่หายไป
ยิ่งชิดใกล้ ความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวก็ยิ่งค่อยๆ เบ่งบานขึ้น วันหนึ่ง PK พบว่าตัวเองกำลังตกหลุมรัก Jaggu เข้าเสียแล้ว แต่เขาต้องจำต้องหักห้ามใจไว้ เพราะ Jaggu ยังมีอดีตรักที่ฝังใจในวัยเรียนกับหนุ่มปากีสถาน Sarfraz Yousuf (Sushant Singh Rajput) ซึ่งเป็นคนที่พ่อแม่กีดกันไม่ให้คบหาเพราะความแตกต่างทางเชื้อชาติศาสนา ประกอบกับเจ้าร่างทรง Tapasvi Maharaj (Saurabh Shukla) ที่พ่อของเธอ (Parikshat Sahni) เคารพนับถือเป็นหนักหนา ก็ทักด้วยว่าคนมุสลิมอย่าง Sarfraz จะทิ้งเธอไปและไม่มีวันแต่งงานกับเธออย่างแน่นอน
ตัวอย่างหนังออนไลน์
รีวิวหนัง
PK (Rajkumar Hirani / India / 2014)
เป็นหนังโรแมนติกคอเมดี้ที่สนุกสุดขีดที่สุดในชีวิต เราไม่ได้ชอบรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ไปเสียหมดแต่ด้วยความที่เราไม่ได้ดูหนังอินเดียบ่อยๆ ทุกอย่างที่ดูคลิเชเก้กังมันก็เลยได้ผลและกลายเป็นเสน่ห์ของหนังเรื่องนี้ไปเลย นอกจากความเป็นหนังรักโรแมนติกและความตลกเฮฮาที่แข็งแรงไหลลื่นอยู่แล้วส่วนนี้มันยังซัพพอร์ตประเด็นที่กอดรัดกับพล็อต ตัวละคร และ Execution สถานการณ์ต่างๆ เอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่นและแม่นยำตั้งแต่ต้นจนจบ สิ่งสำคัญคือต้องพกความเฉลียวฉลาดเอาตัวรอดไว้คอยระวังตัว พอเล่าประเด็นที่ถือว่าซีเรียสอ่อนไหวในสังคมประเทศอินเดียของคนทำเองก็ต้องอาศัยเรื่องราวรักโรแมนติกคอเมดี้ที่ผ่อนคลายและสนุกสนานเพื่อประนีประนอมการแสดงออกทางความคิดที่ขัดต่อความเชื่อทางศาสนาและอำนาจการครอบงำแนวคิดดั้งเดิม ละลายท่าทีแข็งข้อให้กลายเป็นการเจรจาด้วยภาษาพาทีและความไม่รู้อีโหน่อีเหน่ของตัวละครเข้าตะล่อมอย่างได้ผลจนสามารถยิงตรงเป้าเข้าประเด็นอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ฉลาดมากๆ ในการผูกปมคำถามต้นเรื่องและแก้มัดคลี่คลายปัญหาหาทางทอดพรมแดงปูทางลงเดินได้อย่างเก่งกาจ ห่างไกลจากการม้วนเสื่อจบง่ายๆ อย่างที่เคยเห็นในหนังกระแสหลักที่เล่นประเด็นอ่อนไหวแล้วมักจะรอมชอมออมแอบทัศนคติที่หนักหน่วงต่อสังคมเอาไว้ทำให้แสดงออกมาได้แค่ผิวเผินหรือต้องนั่งขบคิดจนสมองเต่งถึงจะได้มาซึ่งสาส์นคำตอบ หนังเรื่องนี้มีทั้งการอธิบายและสาธิตให้เข้าใจและเข้าถึงด้วยการใช้ความรักความสัมพันธ์ของตัวละครที่คนดูพร้อมจะเอาใจช่วย ขนาดที่ทำให้คนดูที่มีความเชื่อในศาสนาและพระเจ้าอย่างเคร่งครัดเคลิ้มคล้อยลอยตามข้อมูลที่สามารถปลดล็อกแนวคิดความเชื่อและศาสนาเดิมเพิ่มช่องว่างให้มุมมองใหม่ที่ไม่เคยยอมรับได้ในแบบย่อยง่ายสบายสมองสุดๆ แถมเส้นเรื่องความสัมพันธ์ความรักโรแมนติกที่ระคนความดราม่าอยู่นิดๆ ก็เรียกน้ำตาและรอยยิ้มจากความเห็นใจและซาบซึ้งใจได้ดี
การเรียนรู้ของพระเอกมนุษย์ต่างดาวในเรื่องสะท้อนการเติบโตของคนเราได้อย่างแนบเนียน ถึงรูปร่างหน้าตาแทบจะเหมือนกันแต่บนโลกมนุษย์ก็ไม่เหมือนดาวของเขาซึ่งที่นั่นผู้คนไม่ใส่เสื้อผ้า ไม่มีภาษา ไม่มีชื่อ สื่อสารกันด้วยการอ่านความคิด แล้วพอมาอยู่บนโลกมนุษย์เขาก็ไม่ต่างจากเด็กกำพร้าแรกเกิดที่ไม่มีพ่อแม่คอยเลี้ยงดู บอกสอนป้อนข้าวป้อนเงิน ชี้นำปลูกฝังความเชื่อ ทัศนคติและอุดมการณ์ในการดำรงชีวิต วิทยุทรานซิสเตอร์ที่บังเอิญได้มาแทนสร้อยจี้รีโมทเรียกยานกลับดาวจึงเปรียบเป็นเหมือนพ่อแม่และเพื่อนคนแรก Culture Shock ที่พบเจอทำให้มนุษย์ต่างดาวต้องเรียนรู้อะไรใหม่ทุกอย่าง ตั้งคำถามและสงสัยไปเสียทุกสิ่งอันเหมือนกับตอนที่เราเป็นเด็กน้อยหอยสังข์ที่เอะอะก็ถามพ่อถามแม่ถามผู้ใหญ่ว่าวัวคืออะไร นกคืออะไร คนใส่แว่นในรูปนั้นกับคนหนวดจิ๋มในรูปนี้คือใคร ต้องยอมรับชื่อตัวเองตามคนเรียก นับถือความเชื่อตามครอบครัวทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าสิ้งเหล่านั้นมันหมายความว่าอะไร ชื่อเต็มจริงๆ ของนางเอกที่เจ้าตัวคิดว่ามันน่าหัวเราะก็เลยต้องย่อเองเป็น จักกุ (ซึ่งเราเข้าใจว่าชื่อพ่อตั้งมันสะท้อนความศรัทธาของพ่อที่นางเอกไม่ใฝ่ตาม) ซึ่งมีฟังก์ชั่นของมัน เช่นกันกับชื่อ ทิปซี่(PK)(ในหนังแปลว่า “เมา”) ของพระเอกมนุษย์ต่างดาวที่ได้มาจากคนบนโลกเรียกชื่อ นอกจากมันจะทำให้เห็นถึงความไม่รู้เรื่องของมนุษย์ต่างดาวผู้มาเยือนแล้ว ขณะเดียวกันก็แว้งกัดความลุ่มหลงของสังคม คำถามที่คนย้อนถามพระเอกมนุษย์ต่างดาวว่าเมาหรือเปล่า? ถึงเงอะงะไม่รู้จักกฎระเบียบหรือวิถีความเชื่อ ก็เลยใช้ได้ในการย้อนถามอีกนัยหนึ่งว่าใครเมากันแน่? ระหว่างพระเอกมนุษย์ต่างดาวหรือมนุษย์โลกพวกนี้ที่หากินกับความศรัทธา
เป็นหนังมนุษย์ต่างดาวที่ไม่ได้พูดถึงวิทยาศาสตร์แม้แต่หน่อยเดียวทั้งที่สร้อยจี้รีโมทอันนั้นมันมีเสียงสัญญาณปิ๊บๆ และวูบวาบชวนให้คนสงสัยมากๆ ซึ่งถ้าไม่นับว่าเป็นช่องโหว่มันก็สะท้อนพื้นฐานความคิดความรู้สึกของคนเราที่ศรัทธาในความเชื่อจนไม่ลืมหูลืมตาที่จะตั้งคำถาม หลายๆ ฉากมี Dilemma ที่ผลักดัน Subtext ให้พวยพุ่งออกมาได้ทรงพลังมหาศาล ทั้งเชิงความคิดและอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร อย่างเช่น ฉากไคลแม็กซ์และอีกหลายๆ ฉากที่ทำให้เราน้ำตาไหล อย่างที่บอกว่าคนทำฉลาดวางแผนในการประนีประนอมประเด็นสุดๆ เราชอบการโกหกที่หนังเอามาใช้ ที่ดาวของทิปซี่(PK)สื่อสารกันด้วยการอ่านความคิดทำให้ปราศจากการโกหก การนับถือเชื่อตามผู้ส่งสารของศาสนาและพระเจ้าเพื่อเป็นที่พึ่งทางจิตใจแบบเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ก็ไม่ต่างคนเราที่โกหกตัวเองและคนอื่นเพื่อความสบายใจ ชอบมากๆ ที่หนังไม่ได้ทรีตให้การโกหกมีแค่ด้านเดียวเพื่อโจมตีในประเด็นที่ตั้งท่าเล่า แต่ยังให้ทิปซี่ที่เป็นตัวละครแฉเรื่องโกหกหลอกลวงทั้งหมดยังได้เรียนรู้ว่าการโกหกช่วยเยียวยาความรู้สึกเศร้าใจบางอย่างได้จริง มันเป็นการบรรจบเส้นเรื่องรักและประเด็นของหนังได้รอมชอมและแม่นยำสุดๆ ซึ่งวิธีการนี้ไม่ค่อยได่เห็นหนังเรื่องไหนที่ประสบความสำเร็จกับการอะลุ่มอล่วยอารมณ์หนังที่ยังคงผลักประเด็นไปได้ไกล หลายๆ ครั้งการเสียดสีประชดประชันทำให้เรานึกถึงหนังเรื่อง หม่อมแอนนา หัวนม มาคารอง โพนยางคำ และการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค, 2014) ที่ประนีประนอม(แล้ว?)แต่ก็ยังถามตรงตอบตรงต่อยกลับแทนเราทุกคำถาม ความไม่รู้เรื่องของทิปซี่ทำให้เรานึกถึงตัวละครของ Antonio Banderas ใน Automata (Gabe Ibáñez, 2014) ที่ตัวละครจำพวกนี้มักเปิดช่องว่างให้เราทบทวนและร่วมตอบคำถามไปกับตัวละครด้วยตัวเราเองได้ แต่คนไม่น้อยมักจะอยากได้คำตอบหรือแม้กระทั่งอารมณ์สำเร็จรูปที่ถาโถมเข้ามาเลยก็ไม่เป็นไร ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็จัดจานราดซอสเสิร์ฟมาให้แบบเอร็ดอร่อยอยู่เหมือนกัน
ถึงแม้หนังจะตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาและเล่าผ่านบทสนทนาตรงๆ เสียส่วนใหญ่ซึ่งหนังส่วนใหญ่มักจะหลีกเลี่ยง แต่คนทำก็สามารถหาวิธีการเล่าให้มันไหลลื่นและเข้าถึงคนดูได้เพลิดเพลินมากๆ ด้วยการเก็บรายละเอียดผู้คนสภาพแวดล้อมสังคมบ้านเมืองตั้งแต่นักบวช คนร่ำรวย ข้าราชการ สื่อข่าว พ่อค้าแม่ขาย ไปจนถึงหญิงขายบริการ ขอทานและขโมย โดยที่เราไม่รู้สึกถึงความต่างชั้นวรรณะนอกจากรูปลักษณ์และเสื้อผ้าอาภรณ์เท่าไหร่เลยนี่เจ๋งมากๆ ถึงวัฒนธรรมไทยกับอินเดียจะแตกต่างกันมากแต่หนังเรื่องนี้ทำให้เห็นว่าเหตุผลในการเชื่อมันไม่แตกต่างกันเลยเราก็เลยเชื่อมโยงและสนุกกับเรื่องราวได้อย่างสุดๆ เรารู้ดีกันอยู่แล้วว่าประเทศอินเดียมีชนชั้นวรรณะและมีความเชื่อในพระเจ้าและศาสนาแรงกล้าและหลากหลายมากมายขนาดไหน ในหนังปรากฏทั้งศาสนสถาน สถานที่ราชการ สื่อที่ชื่อว่า India Now อย่างชัดแจ้ง ในความรู้สึกส่วนตัวของเราก็มีหลายฉากที่เข้าข่ายดูหมิ่นและเสี่ยงต่อการถูกปาหินปาไข่ปาขี้มากๆ ทำให้สงสัยว่าฉากเหล่านี้มันสำเร็จได้ด้วยวิธีการแบบไหนกัน และสิ่งที่ไม่อาจละเลยที่จะชื่นชมได้คือความกล้าหาญของคนทำ และเมื่อดูจากรายได้หนังที่ทำสถิติเปิดตัวสูงสุดตลอดกาลในอินเดียแล้วก็อดที่จะชื่นชมยินดีด้วยไม่ได้ที่คนในประเทศเปิดกว้างรับชมรับฟังหนังที่มีทัศนคติที่แตกต่างจากสังคมที่เป็นอยู่ ทำให้อดไม่ได้ที่จะนึกถึงรายได้ของหนังไทยบางเรื่องที่คนในสยามประเทศแห่แหนกันเข้าไปดูทุกภาค ต่างกันตรงที่ว่าหนังเรื่องนั้นเขาขี่ช้างจับตั๊กแตน แต่ PK เป็นหนังที่คนไทยทุกคนควรจะได้มีโอกาสดู และเป็นหนังในแบบที่คนไทยควรจะมีโอกาสได้คิดและได้ทำ ถึงแม้มุกแลกเปลี่ยนเงินอารมณ์เดียวกับในหนังเรื่องนี้จะยังแตะต้องไม่ได้ก็ตาม
หลังหนังจบเรายังมีคำถามที่ยังค้างคาหลงเหลืออยู่ว่า หนังสือ PK จะเติบโตจนกลายเป็นพระคัมภีร์ How to เล่มใหม่ในการปลดแอกพันธนาการความคิดความเชื่อของคนอินเดียได้ขนาดไหนซึ่งน่าติดตามต่อมากๆ
ปล. รวมฉากน้ำตาไหล
– จักกุตามชายแก่ที่มาหลอกขอเงินทิปซี่ไปและรู้ความจริง ภาพอดีตของคู่รักวัยชราคู่นั้นมันทำให้เราน้ำตาไหล
– ทิปซี่สิ้นหวังและพร่ำพูดกับรูปสักการะนับไม่ถ้วน สุดๆ ของความไม่รู้
– ฉากไคลแม็กซ์ที่นอกจากจะซาบซึ้งและยินดีในความรักของนางเอกกับหนุ่มต่างชาติต่างศาสนาแล้ว ฉากในสถานทูตก็บิลด์ความปลื้มปริ่มสุดๆ ด้วยตัวละครพนักงานสถานทูตที่แย่งซีนสุดๆ เรายังรู้สึกว่าทิปซี่กลายเป็นเครื่องมือเต้าข่าวของนางเอกโดยสมบูรณ์แล้ว ใจนึงก็รักอีกใจนึงก็เจ็บ โอยยยยยยยยย (T^T)